วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

วันมหิดล

วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต[1]ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493[2]

กิจกรรมรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิแก้ไข

ธงที่ระลึกแบบแรกสุด
เมื่อปี พ.ศ. 2503 ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาณ จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีดำริให้จัดทำของที่ระลึกขึ้น เพื่อมอบเป็นสิ่งตอบแทน แก่ผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล เป็นธงรูปสามเหลี่ยม ทำจากผ้าต่วนสีขาว พิมพ์ภาพพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ล้อมรอบด้วยอักษรข้อความ "ที่ระลึกวันมหิดล - วันที่ ๒๔ กันยายน" อยู่ส่วนบน และข้อความ "โรงพยาบาลศิริราช" อยู่ส่วนล่าง โดยทั้งหมดเป็นสีเขียว สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป และแถบริบบินสีต่างๆ พิมพ์ภาพ(อยู่ซ้ายมือ)และข้อความ(เป็นแนวตรงเรียงแถวสามบรรทัดอยู่ขวามือ)เช่นเดียวกับบนผืนธง สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่งทางโรงพยาบาลมอบหมายให้สโมสรนักศึกษาแพทย์ จัดสรรแก่หน่วยนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ที่อาสาออกรับเงินบริจาคในวันที่ 24 กันยายนเพียงวันเดียว แต่ก็ได้รับบริจาคมาเป็นเงิน 69,758 บาท 45 สตางค์[3]
ในปีถัดมา (พ.ศ. 2504) มีการผลิตธงเพิ่มเป็นสามขนาด โดยจะมอบธงขนาดใหญ่ ให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป พร้อมทั้งเพิ่มธงสีเขียว พิมพ์ภาพและข้อความด้วยสีขาว อีกลักษณะหนึ่งด้วย จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 จึงเริ่มใช้สีธงตามวันในสัปดาห์ที่ตรงกับวันที่ 24 กันยายน โดยในปีนั้นตรงกับวันเสาร์ จึงผลิตธงด้วยผ้าสักหลาดสีม่วงขึ้นเป็นครั้งแรก และใช้หลักการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเริ่มการจัดทำเสาไม้สีขาวพร้อมติดธง เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปอีกด้วย[4] ต่อมาภายหลัง ก็ยกเลิกการผลิตริบบิน และเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสติกเกอร์ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีต่างๆ ซึ่งมีภาพและข้อความเช่นเดียวกันขึ้นทดแทน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ก็จัดเพิ่มวันออกหน่วยรับบริจาค เนื่องจากมีผู้บริจาคมากขึ้นเรื่อยๆ
บรรยากาศวันมหิดล ณ โรงพยาบาลศิริราช
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ธงที่ระลึกซึ่งเตรียมไว้ มีไม่เพียงพอกับการมอบให้ผู้บริจาค กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล (ก่อตั้งเมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ด้วยชื่อเริ่มต้นว่า กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) จึงร่วมแรงร่วมใจกันช่วยจัดทำ จนมีพอเพียงกับความต้องการของผู้บริจาค ในปีต่อมา โรงพยาบาลศิริราชจึงจัดจ้างกลุ่มอาสาฯ ให้เป็นหน่วยหลักในการผลิตธงที่ระลึก มาจนถึงทุกวันนี้[5] ปัจจุบัน กิจกรรมออกหน่วยรับบริจาค ของคณะนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลศิริราช จะนำเงินเข้าสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ (ก่อตั้งเมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512) โดยเมื่อบริจาคตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลขนาดใหญ่ เมื่อบริจาคตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลพร้อมเสาธง เมื่อบริจาคตั้งแต่ 20 บาท จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดล และเมื่อบริจาคสมทบทุน จะได้รับสติกเกอร์ที่ระลึกวันมหิดล

วันเยาวชนแห่งชาติ

  วันเยาวชนแห่งชาติ ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี ตามมาค้นหาความสำคัญและความหมายของวันเยาวชนแห่งชาติไปด้วยกัน
 

วันเยาวชนแห่งชาติ


          ในปัจจุบันสังคมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งเป็นพลังลูกใหม่ ๆ ที่จะมาสร้างและพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ "Participation Development and Peace"
 
          สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ โดยถือว่าเป็นวันที่เป็นสิริมงคล อันเนื่องมาจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงค์จักรีถึงสองพระองค์ คือ
 
          - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396
 
          - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468
 
          นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ยังขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์เหมือนกันอีกด้วย 
 
ความหมายของเยาวชน
 
          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "เยาวชน" ไว้หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส
          ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายสากลของคำว่า "เยาวชน" หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

วันแม่แห่งชาติ

 วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันแม่ ภาษาอังกฤษ คือ Mother Day ซึ่งวันนี้ถือตามวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนรำลึกถึงพระคุณของแม่
 
          
 
          ประวัติวันแม่แห่งชาติ มีความเป็นมาอย่างไร สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่ทำไมจึงใช้ดอกมะลิ และคำขวัญวันแม่ปีต่าง ๆ มีข้อความว่าอะไร กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่มีอะไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ   
 
ประวัติวันแม่แห่งชาติ

          ประวัติวันแม่แห่งชาติ แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายน ของทุก ๆ ปี ทั้งนี้ เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุน จนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป  

          มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวันแม่ของชาติ  

          ต่อมาถึง พ.ศ. 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือ วันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 
 
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ

          1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน 

          2. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ  

          3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่ 

          4. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่ 
 
การจัดงานวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย
 

 
          งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤตสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือ วันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน 

          ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ 
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่
 

 
          สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย 

วันข้าวประดับดิน

บุญข้าวประดับดิน ประวัติบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า ประเพณีภาคอีสาน ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และสัตว์นรกหรือเปรต

บุญข้าวประดับดิน

          ประเพณีบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่สืบทอดกันมาในภาคอีสาน โดยบุญข้าวประดับดิน เป็นงานประเพณีที่ถูกจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุก ๆ ปี และในปี 2562 ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ก็ตรงกับวันที่ 29 สิงหาคม

          ทั้งนี้ ในการทำบุญข้าวประดับดินนั้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหารคาว-หวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ มาห่อด้วยใบตอง และทำเป็นห่อเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์ หรือโบสถ์ โดยการทำบุญข้าวประดับดินนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรก หรือเปรต


          นอกจากนี้ บุญข้าวประดับดิน ยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้ รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้น ทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่ 

          ความเป็นมาบุญข้าวประดับดิน

          การทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ยักยอกเงินวัดไปเป็นของตนเอง ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรก และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีก แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ญาติที่ตายไปจึงได้รับส่วนกุศล ดังนั้น การทำบุญข้าวประดับดิน คือการทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ตายไปแล้ว ถือเป็นประเพณีที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี

ประวัติบุญข้าวประดับดิน ประเพณีบุญเดือนเก้าของชาวอีสาน

          พิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน มีดังนี้

            1. วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาว-หวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้ 4 ส่วน ส่วนที่ 1 เลี้ยงดูกันภายในครอบครัว ส่วนที่ 2 แจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่ 3 อุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว และส่วนที่ 4 นำไปถวายพระสงฆ์

            ในส่วนที่ 3 ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย ซึ่งมีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง

            2. วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่าง ๆ ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (วางเป็นระยะ ๆ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด

            3. หลังจากวางเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วทุก ๆ คน